วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์


          แดดร้อนเปรี้ยงกลางเดือนเมษายนเช่นนี้ เชื่อเลยค่ะว่า หลาย ๆ คนคงกำลังตั้งหน้าตั้งตารอคอยเทศกาลแห่งความสุขอย่าง "เทศกาลสงกรานต์" อย่างแน่นอน เพราะนอกจากที่เราจะได้สาดน้ำคลายร้อนในวันหยุดยาว ๆ 3 วันกันแล้ว เทศกาลนี้ยังเป็นวันนัดพบของคนในครอบครัวที่อยู่ต่างถิ่นต่างแดน ให้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมกันด้วย อีกทั้งยังเป็นเทศกาลที่เปรียบเสมือนวันปีใหม่ไทย ให้ชาวไทยได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตตลอดทั้งปี
คำว่า "สงกรานต์"
 
          สำหรับคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า "สํ-กรานต" ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการย้ายที่ เคลื่อนที่ โดยหมายความอีกนัยนึงว่า เป็นการเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่นั้นเอง ส่วนเทศกาลสงกรานต์นั้น เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กันมากับประเพณีตรุษจีน จึงมีการเรียกรวมกันว่า "ประเพณีตรัษสงกรานต์" ซึ่งหมายถึง ประเพณีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั่นเอง 
          ทั้งนี้ วันหยุดสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ แบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์, วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา, วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก ส่วนกิจกรรมหลัก ๆ ที่ทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะเป็นการทำความสะอาดบ้านเรือน การร่วมกันทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำของพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำคลายร้อนกัน เป็นต้น
 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์  
          ในสมัยโบราณ คนไทยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตกราว ๆ เดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าเป็นช่วงฤดูหนาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 เมษายน แต่เมื่อในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นสากล คือวันที่ 1 มกราคม แต่กระนั้น คนไทยส่วนมาก็คุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทิน เกรกอรี่
          นอกจากประเทศไทยได้ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว รู้หรือไม่ว่า ประเทศมอญ พม่า ลาว  ก็นำเอาวันดังกล่าว เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน



         สำหรับภาษาและความเชื่อของวันสงกรานต์ในแต่ละภาคก็จะมีความแตกต่างกันออกไป
ภาคกลาง 
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" และเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" ซึ่งในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศให้เป็นวันครอบครัว
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่

ภาคเหนือ
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันสังขารล่อง" ซึ่งมีความหมายว่า อายุสิ้นไปอีกปี
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเน่า" เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันพญาวัน" คือวันเปลี่ยนศกใหม่

ภาคใต้
   
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันเจ้าเมืองเก่า"  หรือ "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันว่าง" คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่าง ๆ แล้วไปทำบุญที่วัด
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่" คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่น
          คำว่า "ดำหัว" ปกติแปลว่า "สระผม" แต่ประเพณีสงกรานต์ล้านนา หมายถึง การแสดงความเคารพ และขออโหสิกรรมที่ตนอาจจะเคยล่วงเกิน รวมทั้งขอพรจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ครูบาอาจารย์ หรือผู้บังคับบัญชา ส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยนำไปไหว้ และผู้ใหญ่ก็จะจุ่มเอาน้ำแปะบนศีรษะก็เป็นอันเสร็จพิธี



วันสงกรานต์
          อย่างไรก็ตาม พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัว หรือชุมชนบ้านเรือนละแวกใกล้เคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย และค่านิยม จากเดิมชาวบ้านจะใช้น้ำเป็นตัวแทนในการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ โดยถือว่า น้ำจะแก้ความร้อนของฤดูร้อน และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปถึงระลึกบุญคุณต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ส่วนประเพณีสงกรานต์ในสมัยใหม่นั้น จะเป็นประเพณีกลับบ้านเกิดเสียมากกว่า หรือถือว่าเป็นวันครอบครัว
 
 
ที่มา http://hilight.kapook.com/view/21047

วันตรุษจีน

วันตรุษจีน



            ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป สำหรับปี 2556 นี้ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 

ที่มาของวันตรุษจีน 

          เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

          นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง
การกำหนดวันตรุษจีน

     
        ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ
          การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้าน ทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

          จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับ วันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง

สัญลักษณ์ของวันตรุษจีน  
คือ "อั่งเปา" ซึ่งมีความหมายว่า "กระเป๋าแดง" หรือจะใช้คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งมีความหมายว่า "ผูกเอว" จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป)

ที่มา   http://hilight.kapook.com/view/19792

วันจักรี

วันจักรี


          ในทุกๆ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีนั้นถือเป็นสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นคือ วันจักรี ซึ่งเป็นวันที่เราจะร่วมกันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ 

ประวัติการตั้งชื่อวันจักรี
 
          เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี พ.ศ. 2325 นั้นเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และยังทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย และยังเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง

       
   โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระพี่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาทหรือพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5

          ซึ่งการซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "วันจักรี"
          และทั้งหมดก็คือความเป็นมาของวันจักรี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันหยุดราชการธรรมดาๆ แต่เป็นวันที่ประชาชนทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์
 
 
ที่มา http://hilight.kapook.com/view/22420

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา

 ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๓

            "มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

โอวาทปาฏิโมกข์ 
โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุ วนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถา โอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น  ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
     คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
     การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี


กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

ที่มา http://www.dhammathai.org/day/maka.php

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

วันครู

วันครู

วันครูแห่งชาติ


วันครู 2555
      
             คำว่า “ครู” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต “คุรุ” และภาษาบาลี “ครุ, คุรุ” คือ ผู้ที่มีความสามารถให้คำแนะนำอบรมสั่งและสอน ศิษย์ นักเรียน หรือ นักศึกษา ให้เกิดความรู้ คิด อ่าน เขียน เพื่อให้เกิดประโยชน์มีอาชีพที่ดี รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ


ประวัติวันครู

          วันครูได้ จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งได้สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู เพื่อส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ในปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า”ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือ ว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
         จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก และเพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
การจัดงาน “วันครู” ได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนด เป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ

คำปฏิญาณ

ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม


 เครดิตhttp://scoop.mthai.com/specialdays/1474.html

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

วันเด็ก


วันเด็ก


คำขวัญปี 2556 - "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"


 ประวัติความเป็นมา

         วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันาควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
         ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ

         สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

วันเด็ก

         อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

         ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน






วัตถุประสงค์การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ


          สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

         นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ เราจึงได้ยินคำพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า "เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กฉลาด ชาติเจริญ"


กิจกรรมวันเด็ก
          กิจกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางเดียวกัน คือ เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกถิ่นจะมีขนมมากมาย มีคำเชื้อเชิญเพราะ ๆ มีคำอวยพรให้เด็กๆ เป็นวันที่เด็ก ๆ มีสิทธิพิเศษ ถนนทุกสาย เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ หรือร่วมกันทำกิจกรรม ในแต่ละชุมชนเพื่อเด็กๆ จัดบรรยากาศเพื่อเด็ก ๆ เพลงเด็ก ๆ ของขวัญเพื่อเด็ก ๆ ฯลฯ

วันเด็ก

คำขวัญวันเด็ก

            คำขวัญวันเด็ก เป็น คำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


เครดิต : http://hilight.kapook.com/view/17298


การ์ดปีใหม่


ตู้ปลา